Nineteen-Five Revolution; Russian Revolution of 1905 (1905)

การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕, การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (๒๔๔๘)

​​     การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองในรัสเซียซึ่งเกิดขึ้นที่ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ การปฏิวัติครั้งนี้มีเป้าหมายจะโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และจัดตั้งรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น กลุ่มปัญญาชนลัทธิมากซ์เห็นว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie Democratic Revolution) ครั้งแรก และเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สืบสาน อุดมการณ์ของปารีสคอมมูน (Paris Commune)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ เพราะมีการจัดตั้งโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Workers’ Deputies) หรือสภาโซเวียต (Soviets) ซึ่งเป็นองค์การบริหารปกครองตนเองของคนงานขึ้น ผลสำคัญของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ คือซาร์ นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงประกาศ "คำแถลงนโยบายทางการเมืองเดือนตุลาคม" (October Manifesto) ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม และให้ตั้งสภาดูมา (Duma)* หรือรัฐสภาขึ้น การจัดตั้งสภาดูมาจึงเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยของจักรวรรดิรัสเซีย
     การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งรัฐบาลไม่สามารถที่จะแก้ไขได้และเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของ ประชาชนในการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม ความปราชัยของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo- Japanese War)* ที่เกิดขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ ก็มีส่วนทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์โจมตีมากขึ้น ใน ปลาย ค.ศ. ๑๙๐๔ กรรมกรที่เมืองบาคุ (Baku) นัดหยุดงานครั้งใหญ่เรียกร้องสวัสดิการแรงงานจนเจ้าของกิจการน้ำมันยอมตกลงตามข้อเรียกร้อง ชัยชนะของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก่อตัวขึ้นและขยายตัวในวงกว้าง การนัดหยุดงานทั่วไปในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ได้เปิดโอกาสให้ปัญญาชนฝ่ายซ้ายและกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยจัดชุมนุมในรูปของงานเลี้ยง (banquet) เพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นและให้ปฏิรูปการเมือง ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็พยายามแทรกซึมในขบวนการกรรมกรเพื่อปลุกระดมให้ต่อต้านซาร์ บาทหลวง เกออร์กี อะปอลโลโนวิช กาปอน (Georgy Apollonovich Gapon)* นักบวชชาวยูเครนซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ของกรรมกรพยายามควบคุมการชุมนุมของกรรมกรไม่ให้ขยายตัวไปสู่ความรุนแรง กาปอนเป็นผู้นำขบวนแถวของมวลชนและกรรมกรไปยังพระราชวังฤดูหนาวเพื่อถวายฎีกาต่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ แต่กองทหารองค์รักษ์พยายามแยกสลายขบวนมวลชนด้วยการยิงข่มขวัญและสาดกระสุนใส่ผู้เดินขบวนจนนำไปสู่เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕
     ผลกระทบที่สำคัญของเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือดคือประชาชนโดยเฉพาะกรรมกรเริ่มเสื่อมศรัทธาในซาร์เพราะพระองค์ไม่ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้และการปลุกระดมของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่ชี้นำว่า ซาร์นิโคลัสที่ ๒ คือศัตรูของประชาชนก็เริ่มขยายวงกว้างและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น หลังเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองกลายเป็นประเด็นสำคัญทางสังคม และประชาชนทุกระดับซึ่งรวมทั้งกลุ่มที่ไม่เคยสนใจปัญหาการเมืองตลอดจนหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์ก็สนับสนุนให้มีการปฏิรูป นอกจากนี้ กรรมกรนอกประเทศ รัฐบุรุษและผู้นำคนสำคัญในยุโรปหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาต่างให้ความเห็นใจและเริ่มสนใจปัญหาความเดือดร้อนของกรรมกรรัสเซียมากขึ้น ปัญหาการเมืองภายใน รัสเซียได้ขยายตัวกลายเป็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศเริ่มเฝ้ามองและติดตาม ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๕ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงประกาศที่ จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมาและยอมให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการจัดชุมนุม


     ในเดือนพฤษภาคม กลุ่มการเมืองเสรีนิยมและสังคมนิยมรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแห่งสหภาพทั้งมวล (Union of Unions) ขึ้นโดยมีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อสร้างความกดดันให้แก่รัฐบาล ในช่วงเวลาเดียวกัน กรรมกรโรงงานทอผ้าที่อีวาโนโว-โวสนีเซนสค์ (Ivanovo-Voznesensk) ก็นัดหยุดงานครั้งใหญ่และยังจัดตั้งโซเวียตผู้แทนกรรมกรซึ่งเป็นองค์การปกครองตนเองของกรรมกรขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย แม้การนัดหยุดงานครั้งนี้จะล้มเหลวแต่ก็นำไปสู่การก่อจลาจลของชาวนาในชนบทด้วย และชาวนาได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแห่งชาวนารัสเซียทั้งมวล (All Russian Peasant’s Union) ขึ้น แม้รัฐบาลจะปราบปรามการเคลื่อนไหวของชาวนาและกรรมกรได้สำเร็จแต่การเคลื่อนไหว ต่อต้านก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ การใช้กำลังปราบปรามการเคลื่อนไหวของกรรมกรและชาวนาและข่าวความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าของกองทัพรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นก็ส่งผลสะเทือนต่อสังคมและกองทัพด้วยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ทหารเรือและกลาสีเรือรบโปเทมกิน (Potemkin) ซึ่งลาดตระเวนในทะเลดำได้ก่อการจลาจลขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏโปเทมกิน (Potemkin Mutiny)* แต่รัฐบาลก็สามารถปราบปรามลงได้
     ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๐๕ กรรมกรช่างพิมพ์ในนครมอสโกนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง กรรมกรอุตสาหกรรมอื่น ๆ และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ พากันหนุนช่วยการนัดหยุดงานครั้งนี้จนกลายเป็นการนัดหยุดงานทั่วไปทางการเมือง ในเวลาอันสั้นกระแสการนัดหยุดงานก็ขยายตัวไปถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเมืองอื่น ๆ ในต้นเดือน ตุลาคม กรรมกรรถไฟเส้นทางสายมอสโก-คาซานก็นัดหยุดงานและในวันที่ ๗ ตุลาคมสถานีรถไฟชุมทางทั่วมอสโกก็หยุดงาน และตามด้วยการนัดหยุดงานของ กรรมกรรถไฟทุกสายทั่วประเทศ ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขและกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จัดชุมนุมและทยอยนัดหยุดงานด้วย ข้อเรียกร้องของการนัดหยุดงานครั้งนี้คือการปฏิรูปทางการเมืองและการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการมีสิทธิเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดตั้งสภาคนงานหรือโซเวียตผู้แทนกรรมกรขึ้น สภาโซเวียตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นสภาคนงานแรกที่ก่อตั้งขึ้น
     นับแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา เมืองใหญ่หลายแห่งได้จัดตั้งโซเวียตผู้แทนกรรมกรขึ้นตามแบบโซเวียตผู้แทนกรรมกรเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การจัดตั้งสภาโซเวียตจึงเป็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ การจัดตั้งสภาโซเวียตและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งความวุ่นวายในชนบททำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงหวาดวิตกและมีพระประสงค์จะใช้กำลังปราบปรามแต่ได้รับการกราบทูลแนะให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะสงครามกลางเมือง ทรงหาทางออกด้วยการประกาศ "คำแถลงนโยบายทางการเมืองเดือนตุลาคม" เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม ให้จัดตั้งสภาดูมาเพื่อพิจารณาออกกฎหมายต่าง ๆ และเพื่อปฏิรูปการเมืองตลอดจนให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ประชาชนทั่วไปในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเป็นสมาชิกสภาดูมาและอื่น ๆ คำแถลงนโยบายทางการเมืองเดือนตุลาคมทำให้กลุ่มเสรีนิยมพอใจและยุติการเคลื่อนไหวแต่สภาโซเวียตยังคงเรียกร้องให้เคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปโดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลเพียงใช้นโยบายหลอกลวงเพื่อตบตาประชาชนเหมือนกับที่เคยปฏิบัติและการต่อสู้ยังไม่ได้ชัยชนะที่สมบูรณ์อย่างไรก็ตามในวันที่ ๒๑ ตุลาคมสภาโซเวียตมีมติให้ยุติการเคลื่อนไหวตามคำแนะนำของ เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ซึ่งเห็นว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวยังไม่อาจคาดหวังผลแห่งชัยชนะได้และอาจนำไปสู่การปะทะอันนองเลือด
     ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม รัฐบาลนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งและในช่วงเวลาเดียวกันก็เริ่มเคลื่อนไหวแยกสลายพลังประชาชนด้วยการใช้กำลังทัพสังหารโหดชาวยิวหลายครั้งเพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชนชาติกลุ่มน้อย ทำให้ชาวยิวจำนวนนับหมื่นคนเสียชีวิต ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังก่อตั้งหน่วยตำรวจที่เรียกชื่อว่า "สันนิบาตประชาชนรัสเซียและสันนิบาตมีชาเอล เดอะ อาร์ฮานเกลค์" (League of the Russian People and the League of Michael the Arkhangel’sk) ขึ้น ซึ่งภายในหน่วยดังกล่าวมีเจ้าที่ดินปฏิกิริยา นายทุน บาทหลวงและอันธพาลกึ่งอาชญากรเป็นสมาชิก หน่วยตำรวจดังกล่าวจึงได้สมญาจากประชาชนในเวลาต่อมาว่า "กลุ่มร้อยทมิฬ" (Black- Hundreds) เพราะมักปฏิบัติการก่อกวน และทำร้ายทุบตีกรรมกรหัวก้าวหน้า ปัญญาชนปฏิวัติและนักศึกษาอย่างเปิดเผยโดยตำรวจร่วมมือสนับสนุนด้วย นอกจากนี้กลุ่มร้อยทมิฬยังใช้ความรุนแรงด้วยการเผาอาคารสถานที่และยิงปืนใส่มวลชนที่ร่วมชุมนุม และตามสถานที่ชุมนุมสาธารณะด้วย ขณะเดียวกันกองทหารประจำท้องถิ่นที่ถูกโยกย้ายให้ไปประจำในเขตต่างถิ่นก็ได้รับคำสั่งให้สามารถใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
     ภายหลังที่การเคลื่อนไหวชุมนุมของกรรมกรสิ้นสุดลง สภาโซเวียตมีมติให้จัดงานพิธีไว้อาลัยแก่กรรมกรที่เสียชีวิตในระหว่างการต่อสู้นัดหยุดงานโดย กำหนดให้ทำพิธีในวันที่ ๒๓ ตุลาคม แต่ในวันที่ ๒๒ ตุลาคมก็มีมติให้ยกเลิกอย่างกะทันหันเพราะทราบข่าวว่าตำรวจเตรียมปราบปรามการชุมนุมไว้อาลัยในวันดังกล่าวในเย็นวันเดียวกันนั้น สภาโซเวียตก็มีมติให้ตั้งกองกำลังต่อสู้ขึ้นเพื่อป้องกันตนเอง แต่ปัญหาที่ประสบคือการขาดแคลนอาวุธและอาวุธที่สามารถหาได้อย่างดีที่สุดคือปืนพกซึ่งก็มีจำนวนจำกัด อาวุธหลักจึงเป็นเพียง ไม้ตะพดและท่อนเหล็ก ข้อบกพร่องดังกล่าวมีส่วนทำให้ปัญหาการติดอาวุธและการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญที่องค์การปฏิวัติในเวลาต่อมาต้องหาทางแก้ไข
     ในปลายเดือนตุลาคม กรรมกรชาวโปลก่อการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานและรัฐบาลซาร์สั่งปราบปรามอย่างเด็ดขาดทั้งประกาศใช้กฎอัยการศึกในโปแลนด์สภาโซเวียตแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวในโปแลนด์และจัดชุมนุมนัดหยุดงานครั้งใหม่โดยเรียกร้องให้กรรมกรโปแลนด์มีสิทธิตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการหนุนช่วยจากกลาสีและลูกเรือที่ครอนชตัดท์ที่ก่อการชุมนุมประท้วงด้วย รัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับกุมกลาสีและลูกเรือครอนชตัดท์ (Krondstadt) ขึ้นพิจารณาคดีที่ ศาลทหารสูงสุด สภาโซเวียตจึงมีมติให้เคลื่อนไหวชุมนุมทั่วไปครั้งใหญ่วันที่ ๑ พฤศจิกายนเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของกรรมกรโปแลนด์ การปล่อยตัวกลาสีและลูกเรือครอนชตัดท์ทั้งหมดรวมทั้งข้อเรียกร้องการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้ การชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไปที่กำลังก่อตัวขึ้นและมีทีท่าจะขยายตัวใหญ่โตอีกครั้งหนึ่งมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องยอมประนีประนอมด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกในโปแลนด์และให้พิจารณาคดีกลาสีและลูกเรือครอนชตัดท์ที่ศาลทหารชั้นต้น
     อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน

คูร์สตาลอฟ-นาซาร์ (Khrustalev-Nasar) และผู้นำสภาโซเวียตอีกหลายคนถูกจับกุม สภาโซเวียตจึงมีมติตั้งแกนนำบริหารชุดใหม่ซึ่งประกอบด้วยตรอตสกีและผู้แทนโซเวียตอีกสองคนขึ้นบริหารงานแทนและเตรียม การตอบโต้รัฐบาล วิคเตอร์ เชียร์นอฟ (Victor Chernov)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* เสนอให้ใช้วิธีรุนแรงตอบโต้รัฐบาลทุกครั้งที่รัฐบาลใช้มาตรการต่อสภาโซเวียต อีก ๒ วันต่อมา รัฐบาลซึ่งต้องการหยั่งเชิงของสภาโซเวียตสั่งให้หน่วยเซนเซอร์ควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์อีกครั้งและเริ่มจับกุมผู้นำกรรมกรและประชาชนที่สนับสนุนโซเวียต สภาโซเวียต จึงออกแถลงการณ์โจมตีรัฐบาลและมีมติให้จัดชุมนุมทั่วไปทางการเมืองขึ้น แต่รัฐบาลตอบโต้ทันทีด้วยการข่มขู่จะใช้มาตรการลงโทษหนักต่อผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวและจะยุบพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมรวมทั้งจับกุมผู้นำพรรค การข่มขู่ของรัฐบาลทำให้บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมแผ่ขยายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
     รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่หลายแห่งที่กรรมกรและชาวนาทำการเคลื่อนไหวและลุกขึ้นต่อสู้รวมทั้งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่พิมพ์ข่าวและแถลงการณ์ของสภาโซเวียต ในตอนบ่ายของวันที่ ๓ ธันวาคม ขณะที่สภาโซเวียตกำลังประชุมกันอยู่ ทหารคอสแซค (Cosssacks)* และตำรวจได้เข้าล้อมสถานที่ประชุมสภาโซเวียตและพยายามบุกจับกุมผู้เข้าร่วมประชุม แต่ ตรอตสกีห้ามให้ทหารเข้ามาในที่ประชุมและดำเนินการประชุมเสร็จรวมทั้งให้ทำลายหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ของสภาโซเวียตก่อนจะถูกจับกุมพร้อมกับผู้แทนสภาโซเวียตคนอื่นๆ
     การจับกุมตรอสตสกีและสมาชิกสภาโซเวียตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รวมทั้งการเริ่มปฏิบัติการโจมตีและปราบปรามกรรมกรของรัฐบาลทำให้แกนนำบอลเชวิคในมอสโกกับสภาโซเวียตมอสโกมีมติให้ชุมนุมเคลื่อนไหวและเตรียมจับอาวุธขึ้นสู้ทันที ในวันที่ ๕ ธันวาคมสภาโซเวียตมอสโกประกาศนัดหยุดงานทั่วไปทางการเมืองและเห็นชอบให้ปรับยุทธวิธีเคลื่อนไหวเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธในระหว่างดำเนินการต่อสู้ ในวันที่ ๗ ธันวาคมซึ่งเป็นวันแรกของการนัดหยุดงานทั่วไปมีกรรมกรเกือบ ๑๕๐,๐๐๐ คนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้ไม่ได้ขยายตัวไปทั่วประเทศและไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมกรแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งกำลังถูกรัฐบาลปราบปราม ในวันที่ ๙ ธันวาคม มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกรรมกรตามเขตต่าง ๆ ทั่วมอสโก การนัดหยุดงานกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธและกรรมกรหลายพันคนที่ติดอาวุธต่างต่อสู้อย่างกล้าหาญถึง ๙ วันเต็ม รัฐบาลต้องนำกำลังทหารหลายกรมจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและทาง ชายแดนภาคตะวันตกมาสมทบกับกองทัพที่ มอสโกเพื่อปราบปรามการต่อสู้ที่ เกิดขึ้นที่ มั่นสุดท้ายของพวก กรรมกรที่ เขตป้อมเพรสเนียแดง (Krasnaya Presnya) ซึ่งเป็นเขตรวมศูนย์ของหน่วยรบที่แข็งแกร่งที่นำโดยบอลเชวิคและเป็นศูนย์กลางของการลุกขึ้นสู้ที่ดำเนินไปอย่างทรหดและดุเดือดก็ถูกปราบปรามลงในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่ละเขตต่างจับอาวุธขึ้นสู้ตามลำพังโดยไม่มีการประสานกัน และขาดการวางแผนการต่อสู้ร่วมกันรวมทั้งองค์การนำการลุกขึ้นสู้ในหลายเขตก็ถูกจับกุม ขอบเขตการต่อสู้จึงจำกัดเป็นเพียงการรบป้องกันตัว กำลังของการลุกขึ้นสู้ที่มอสโกจึงบอบบางและต้องพ่ายแพ้ในที่สุด
     อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นสู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่มอสโกเท่านั้น กรรมกรตามเมืองและท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่นที่เมืองคราสโนยาสค์ (Krasnoyak) โนโวรอสซิสค์ (Novorossisk) ซอร์โมโว (Sormovo) ซีวัสโตโปล ครอนชตัดท์ และที่อื่นๆ ก็ลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธด้วย แต่ก็ถูกปราบปรามลง นอกจากนี้ชนชาติส่วนน้อยในจอร์เจียก็ลุกฮือขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธเช่นกันและ ขอบเขตการต่อสู้ได้ขยายตัวไปเกือบทั่วทั้งจอร์เจียบริเวณแอ่งที่ราบโดเนทซ์ (Donetz Basin) ในยูเครนเมืองกอร์ลอฟกา (Gorlovka) อะเล็กซันคอฟสค์ (Alexsankovsk) และลูแกนสค์ (Ruskansk) การต่อสู้นองเลือดและใหญ่โตมาก ที่ลัตเวีย (Latvia) และฟินแลนด์ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างทรหด แต่การลุกขึ้นสู้ทั้งหมดก็ตกอยู่ในสภาวการณ์เดียวกับที่มอสโกเพราะถูกกองทหารใช้ปืนใหญ่ระดมยิงและปราบปรามอย่างหนักจนต้องพ่ายแพ้ในที่สุด และรัฐบาลยังคงดำเนินการปราบปราม และกวาดล้างองค์การปฏิวัติอย่างต่อเนื่องจนถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๐๖ ประมาณว่าประชาชน ๑๕,๐๐๐ คน ถูกเข่นฆ่า ถูกยิง และบาดเจ็บกว่า ๒๐,๐๐๐ คน และกว่า ๔๕,๐๐๐ คน ถูกเนรเทศไปไซบีเรีย
     แม้การลุกขึ้นสู้จะล้มเหลวแต่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก็ให้บทเรียนทางการเมืองที่สำคัญแก่ววลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และ พรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* เพราะได้วางพื้นฐานทางความคิดเรื่องการยึดอำนาจรัฐในเวลาต่อมาทั้งชี้ให้เห็นว่ากรรมกรคือพลังสำคัญของการก่อการปฏิวัติและสภาโซเวียตคือองค์กรนักรบของประชาชนในการก่อกบฏและเป็นรูปแบบของรัฐบาลปฏิวัติที่จะจัดตั้งขึ้นการวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธเป็นเงื่อนไขสำคัญของชัยชนะที่ต้องกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ครั้งต่อไปเลนินกล่าวในเวลาต่อมาว่าการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ คือบทโหมโรงของการปฏิวัติใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตส่วนตรอตสกีกล่าวสรุปว่าสภาโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๕ และมีบทบาทโดดเด่นในฐานะองค์การนำของขบวนการปฏิวัติตลอดช่วง ๕๐ วัน คือรูปแบบของสถาบันการปกครองประชาธิปไตยที่แท้จริงในประวัติศาสตร์รัสเซียใหม่ ความพ่ายแพ้ของสภาโซเวียตเป็นเพราะจำกัดขอบเขตการต่อสู้เฉพาะในเมืองเพียงแห่งเดียว แต่ในการปฏิวัติครั้งต่อไปสภาโซเวียตจะต้องถูกจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ.



คำตั้ง
Nineteen-Five Revolution; Russian Revolution of 1905
คำเทียบ
การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕, การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
คำสำคัญ
- อะเล็กซันคอฟสค์
- ลูแกนสค์
- เชียร์นอฟ, วิคตอร์ มีไฮโลวิช
- ซอร์โมโว
- พรรคบอลเชวิค
- เพรสเนียแดง, ป้อม
- เลนิน, วลาดีมีร์
- คราสโนยาสค์, เมือง
- โนโวรอสซิสค์
- กอร์ลอฟกา, เมือง
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี
- กาปอน, เกออร์กี อะปอลโลโนวิช,บาทหลวง
- นโยบายทางการเมืองเดือนตุลาคม
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- บาคุ, เมือง
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- ปารีสคอมมูน
- กบฏโปเทมกิน
- กลุ่มร้อยทมิฬ
- สภาดูมา
- มิลยูคอฟ, ปาเวล
- ตรอตสกี, เลออน
- สหภาพแห่งชาวนารัสเซียทั้งมวล
- คอสแซค
- คูร์สตาลอฟ-นาซาร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf